จัดการอย่างไรกับคนรอบข้างที่สนับสนุน และไม่สนับสนุนการตัดสินใจของเรา
Posted on December 27, 2013 10:59


ไม่ใช่ทุกคนที่สนับสนุนการตัดสินใจของเรา ซึ่งเกิดขึ้นได้กับพวกเราคนไทย วัฒนธรรมของเราให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตตามกฎ กติกา ที่เคยปฏิบัติกันมารุ่นต่อรุ่น

และยังเน้นย้ำเรื่องการอดออมไว้ใช้ในภายภาคหน้า (อันนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง) คนไทยให้ความสำคัญกับการมีความสุขในวันข้างหน้า โดยแลกกับความลำบากและตั้งมั่นในวันนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่เราต้องอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ไม่เหมือนกัน และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป

 

เราบอกว่าการเดินทางเป็นการเรียนรู้ของเรา เป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ไม่มีในหนังสือ ไม่ใช่แค่การไปเที่ยวเพลินเพลิดเท่านั้น เป็นการหาประสบการณ์และมีความสุข สนุกกับมัน แต่ก็จะเกิดคำถามจากคนรอบข้างได้ว่า ไปเที่ยวเหรอ ไปตั้งปี ไปทำไม ได้อะไร เปลืองเงินเปล่าๆ  เก็บไว้ใช้ตอนแก่ดีกว่า เป็นต้น ดังนั้นการที่จะเดินไปบอกคนรอบข้างเรา และคาดหวังว่าทุกคนจะเข้าใจนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะเราเกิดมาคนละยุคคนละสมัย คิดไม่เหมือนกัน โตมาในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน และเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน

 

ส่วนตัวแล้วโชคดีมากระดับหนึ่ง ที่เพื่อนสนิท และน้องชายเข้าใจ และให้การสนับสนุน ทั้งในเรื่องการพยายามช่วยเรื่องข้อมูล การช่วยไปเจอกันครึ่งทางระหว่างที่เราเดินทางอยู่ เพื่อจะเอาของบางอย่างที่เราไม่ใช้แล้วออกจากกระเป๋าและขนกลับบ้านให้เรา เป็นการประหยัดค่าส่งกลับทางไปรษณีย์ได้พอสมควร และเพื่อนบางคนก็คอยไถ่ถามว่าถึงไหนแล้ว ยังมีชีวิต หรือสบายดีอยู่นะ รอดูรูปนะ คอยเช็คตลอดถ้าเราหายหน้าจาก facebook ไปนานเกินไป เป็นกำลังใจที่ดีอย่างมาก การได้พูดคุย แบ่งปัน แลกเปลี่ยนกับคนที่เข้าใจในสิ่งที่เราทำนั้น คงไม่ต้องบอกว่าทำให้เรารู้สึกดี และมั่นใจมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนรอบข้างที่เป็นคนสำคัญในชีวิตเราจะเข้าใจทุกคน แม่ คือคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต แม่มีพื้นฐานการคิดและใช้ชีวิตที่แตกต่างมาก แม่เป็นคนมีวินัยและใช้ชีวิตอยู่กับคำว่าเสียสละ เสียสละทุกอย่างเพื่อลูก และต้องการให้ลูกมีวินัยและความมั่นคงเพื่ออนาคต คงพอนึกออกว่า แม่จะไม่เข้าใจและมองภาพไม่ออกว่าจะได้อะไรจากการเดินทางนี้ ไหนจะขาดรายได้ไปหนึ่งปี บวกกับต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แล้วโดยเฉพาะเป็นผู้หญิงคนเดียวอีก แน่นอนคนเป็นแม่ก็มีแต่ความห่วงและกังวล พอบอกแม่ แม่ก็เงียบทบทวนสิ่งที่เราบอกอยู่หลายวัน และวันหนึ่งก็บอกเราว่าอย่าไปเลย เราคงไม่มีความสุขที่ได้ทำสิ่งนี้ถ้าแม่ไม่สนับสนุน แต่เมื่อทบทวนในสิ่งที่แม่บอก ไม่ได้หมายความว่าแม่ไม่รัก แม่ไม่สนับสนุน แต่เป็นเพราะแม่เป็นห่วง ห่วงว่าเราจะปลอดภัยหรือไม่ ห่วงว่าเราจะใช้เงินจำนวนมากแถมยังไม่มีรายได้ และห่วงว่ากลับมาจะมีงานทำเหรอ เมื่อเราเข้าใจว่าแม่จริง ๆ ต้องการอะไร เราก็สามรถจัดการความรู้สึกนี้ได้ โดยคอยบอกว่าเราจะจัดการเรื่องพวกนั้นอย่างไร เช่น

 

-  เรื่องงานไม่ต้องเป็นห่วงนะ เพราะคุยกับเจ้านายไว้ว่าถ้ากลับมาและเราต้องการงานเดิมเราก็จะได้ทำ

-  เรื่องความปลอดภัย เราหาข้อมูลอย่างดี เรามีเพื่อนที่เราติดต่ออยู่ตลอดเวลาทุกวันให้รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน และที่ที่มีความเสี่ยง เราจะไม่ไป หรือถ้าไปเราจะใช้วิธีไปเป็นกลุ่มกับนักเดินทางคนอื่น ๆ หรืออาจจะใช้บริการนำทัวร์ เป็นต้น

- ให้แม่รู้ว่าเราจะไปที่ไหนบ้าง เส้นทางเป็นอย่างไร ประเทศไหนเราไปเอง ประเทศไหนที่มีความเสี่ยงเราไปกับบริษัทฯที่จัดทัวร์มืออาชีพนะ

 

สรุปว่าต้องสื่อสารให้เข้าใจ ใช้เวลา และพยายามเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเค้าแค่กังวล ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เราก็สามารถจัดการได้  ถึงแม้ว่าเราทำทั้งหมดนี้แล้ว แม่คงยังกังวลอยู่ไม่ว่าเราจะให้ข้อมูลขนาดไหนก็ตาม ดังนั้นนอกจากพูดคุยล่วงหน้าแล้ว ระหว่างการเดินทาง ก็ไม่ควรหายเข้ากลีบเมฆไป แต่ควรติดต่อกับทางบ้านอย่างสม่ำเสมอตลอดการเดินทาง ให้รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ทำอไร จะไปที่ไหนต่อ โดยการโทรกลับบ้านทุกสัปดาห์ และถ้าเราจะไปประเทศไหนที่การสื่อสารลำบาก ก็ต้องบอกล่วงหน้าว่าอาจจะหายไปนานกว่าหนึ่งสัปดาห์นะ คนทางบ้านจะได้ไม่ต้องกังวล

 

การเดินทางจะไม่มีความหมายเลยถ้าเราต้องไม่เข้าใจกับคนรอบข้างที่สำคัญในชีวิตเรา ดังนั้นควรวางแผนล่วงหน้า และทำความเข้าใจกับคนรอบข้างที่ให้ดี เมื่อถึงวันเดินทาง เราจะได้ไม่ต้องมีอะไรติดค้างในใจ และพร้อมที่จะรับประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต